ประวัติผ้าไหมพุมเรียง

ประวัติการทอผ้าไหมพุมเรียง

การทอผ้าไหมพุมเรียง  เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ของกลุ่มคนไทยมุสลิม  ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหัวเลน หมู่ที่ 2 บริเวณคลองพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งได้สืบทอดกันหลายชั่วอายุคนจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ผ้าไหมพุมเรียงเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงามและมีลักษณะเด่นที่ต่างไปจากผ้าไหมอื่นๆ คือ การทอยกดอกด้วยไหมและดิ้น ผ้ายกดอกที่มีชื่อเสียงได้แก่  ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลายเชิง เป็นต้น
ชาวไทยมุสลิมตำบลพุมเรียงในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากแขกเมืองสงขลาเขาแดงซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเป็นพวกมลายูที่อพยพมาจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย บางส่วนอาจมีเชื้อสายแขกปัตตานีและไทรบุรี ที่อพยพเข้ามาที่ตำบลพุมเรียงในช่วงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพวกแขกเมืองสงขลาหัวเขาแดง เมืองปัตตานีและไทรบุรีทำให้เกิดการผสมผสาน ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับชาวไทย แต่ส่วนใหญ่พวกแขกเหล่านั้นยังคงรักษาเอกลักษณ์ดังเดิมไว้ โดยเฉพาะการทอผ้าไหมยกดิ้นเงินดิ้นทองหรือยกไหม ซึ่งต่างไปจาการทอผ้าที่ทอโดยคนไทยสมัยนั้น และสิ่งเหล่านั้นได้สืบทอดมาสู่ทายาทที่เป็นชาวไทยสุสลิม
ลักษณะการถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าไหมของชาวไทยพุทธและขาวไทยมุสลิม เป็นวิธีการเรียนรู้โดยธรรมชาติ ด้วยวิธีสังเกตและทดลองปฏิบัติจริง เด็กหญิงมักจะเริ่มหัดทอผ้าตั้งแต่อายุยังน้อย โดยสังเกตเวลาผู้ใหญ่ทอผ้า ผู้ใหญ่จะสอนวิธีการทอ  การย้อมสี  กรอไหม  ค้นไหม ม้วนเก็บ การเก็บตระกอและก่อเช่า ซึ่งเทคนิคขั้นตอนการทอผ้าไหมเหล่านี้ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยความสามารถในการจดจำจากผู้ที่สอนที่มีความชำนาญ มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงให้สามารถเก็บรักษาศิลปะการทอผ้าไว้จนถึงปัจจุบัน
เครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าทอตำบลพุมเรียงในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ หูก จึงเรียกการทอผ้าว่าการทอหูก ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของผู้หญิงชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมที่จะต้องเตรียมไว้ให้ครอบครัวโดยเฉพาะหญิงสาวที่จะออกเรือนจะต้องเตรียมผ้าที่จำเป็นทั้งของฝ่ายชายและของตนเอง ซึ่งมีทั้งผ้านุ่ง ผ้าห่มและเครื่องใช้ต่างๆ ดังนั้น การมีฝีมือในการทอผ้าจึงเป็นการแสดงความเป็นกุลสตรีอีกด้วย
ผ้าที่ทอกันในช่วงนั้นมีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม แบ่งออกเป็นผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และผ้าที่ใช้ในงานและพิธีการต่างๆ ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้นทอกันเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ ฝ้ายทอเพื่อความท���ทาน โยทอเป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าพื้น ผ้าตา ผ้าริ้ว และผ้าขาวม้า สำหรับที่ใช้ในงานและพิธีการต่างๆจะทอด้วยไหม หรือฝ้ายแถมไหม มัดลวดลายทอยกดอกสวยงาม ใช้นุ่งเข้าเฝ้า หรือนุ่งในงานักขัตฤกษ์ งานบุญ งานแต่งงาน ผ้าชนิดนี้ระยะแรกๆทำกันน้อย และจะทอเฉพาะเวลาที่มีผู้มาสั่งทำเท่านั้น ไม่มีขายในท้องตลาด เนื่องจากช่างสมัยแรก นั้นผ้าชนิดนี้นุ่งห่มได้เฉพาะเจ้านาย ขุนนาง หรือข้าราชการผู้ใหญ่เท่านั้น ถ้าเป็นคนธรรมดาจะไม่เหมาะสม แต่ในช่วงหลังๆ คนธรรมดาก็นำมาใช้นุ่งในพิธีแต่งงานหรือพิธีสำคัญอื่นๆทางศาสนา คนไทยนิยมนำไปใช้นาคนุ่งในงานบวชด้วย และการที่ผ้าชนิดดังกล่าวทอที่บ้านในระยะแรกๆ นั้น ที่บ้านผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ใหญ่นั้น อาจเป็นไปได้ว่าชาวเมืองปัตตานี และไทรบุรีซึ่งอพยพเข้ามาที่ตำบลพุมเรียง ในระยะแรกๆ นั่นต้องทำงานให้เข้ากับเจ้านายหรือกรรมการเมื่อผู้ใหญ่ ดังนั้น การทอผ้ายกดอกด้วยไหมจึงมีเฉพาะบ้านเจ้าเมือง และกรรมการเมืองเท่านั้น ซึ่งนอกจากเจ้าของบ้านจะใช้ของเองแล้วยังทอขายให้กับผู้สั่งทำโดยเฉพาะ ผ้าไหมยกดอกพุมเรียงจึงไม่แพร่หลายมาที่ควร แม้ว่าในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์น่าจะมีการทอผ้าชนิดต่างๆเป็นสินค้าออกด้วยก็ตาม
ในช่วงทศวรรษหลังจากปี พ.ศ. 2480 มีการนำเครื่องทอผ้าชนิดใหม่เข้ามาเผยแพร่ที่ตำบลพุมเรียง คือ กี่กระตุก  กล่าวคือ สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ส่งเสริมให้คนไทยใช้ของที่ผลิตที่ในประเทศโดยเฉพาะเครื่องแต่งกาย เน้นให้ใช้ผ้าที่ผลิตขึ้นเอง จึงได้มีการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าขึ้นโดยรัฐบาลได้ส่งหน่วยฝึกฝนอาชีพเข้าไปในชนบทต่างๆทั่วประเทศโดยเฉพาะที่ตำบลพุงเรียงจึงทำให้มีการใช้กี่กระตุกทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน
การทอผ้าไหมในตำบลพุมเรียงเริ่มซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2 เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทอผ้า เช่น ด้ายไหม มีราคาแพงและหาซื้อยาก ประกอบกับระยะต่อมามีผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักรส่งเข้ามาขายจำนวนมาก ราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวกกว่าการทอผ้าใช้เอง ชาวพุทธส่วนมากจึงเลิกทอผ้ารายได้น้อย ขณะเดียวกันหญิงชาวไทยพุทธสามารถเลือกอาชีพอื่นๆได้ เช่น รับราชการ หรือค้าขาย จึงเลิกทอผ้าไหมไปในที่สุด
ส่วนชาวไทยมุสลิมยังคงประกอบอาชีพทอผ้าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน หญิงชาวไทยมุสลิมอายุประมาณ 11-50 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลพุมเรียงหรือมาจากต่างอำเภอ จะรับจ้างทอผ้าให้กับผู้ประกอบการทอผ้ารายใหญ่ ซึ่งพัฒนากิจการทอผ้าขึ้นเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนขนาดย่อมแต่ส่วนมากเป็นการทอผ้าแบบกี่กระตุก  ได้ค่าจ้างเป็นรายชิ้นบ้าง  รายเดือนบ้าง  ตามความสามารถของผู้ทอ  ผู้ประกอบการทอผ้ารายใหญ่บางรายอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  จะส่งไหมและวัสดุที่ใช้ในการทอผ้าอื่นๆ มาให้ช่างทอผ้าพุมเรียง ทอเป็นลวดลายทอผ้ายกดอกแบบโบราณโดยให้ค่าจ้างเป็นรายชิ้น ราคาค่าจ้างทอประมาณ 500 – 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายกับลายผ้า
อนึ่ง การทอผ้ายกดอกด้วยหูกแบบโบราณในตำบลพุมเรียงปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก ช่างทอผ้ารุ่นใหม่ไม่นิยมทอด้วยหูก แต่จะหัดทอผ้าด้วยที่กระตุกเป็นส่วนใหญ่ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์การทอผ้ายกดอกด้วยเครื่องมือแบบโบราณของตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี ผู้เรียบเรียงนำเสนอเครื่องเฉพาะที่เรียกว่าหูก  และการทอผ้าไหมยกดอกแบบเก่าที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่ชาวไทยมุสลิมในตำบลพุมเรียงได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เพื่อให้ช่างทอผ้ารุ่นใหม่และผู้สนใจได้เรียนรู้ถึงกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมพุมเรียงเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของผ้าพื้นเมืองเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และส่งเสริมให้แพร่หลายยิ่ง และเป็นการช่วยเพิ่มพูนรายได้ของประชาชนในท้องถิ่นภาคใต้อีกทางหนึ่งด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น